เขื่อนแม่วงก์กับรถด่วนขบวนสุดท้าย

เขื่อนแม่วงก์กับรถด่วนขบวนสุดท้าย

ในเมื่อพลาดการออกเรือนมานานแล้ว หากสาวคนไหนมาเจอเนื้อคู่เอาตอนเกือบสาย ก็คงต้องรีบคว้าไว้ เพราะเป็นรถด่วนขบวนสุดท้าย
เขื่อนแม่วงก์ที่จะมีผลทำให้น้ำท่วมป่าสมบูรณ์ในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ก็คงทำนองเดียวกัน ต่างกันตรงที่ว่าสาวคนนี้ ผู้ (มีอำนาจ) ปกครองยัดเยียดให้ออกเรือน โดยไม่สนใจว่าเป็นการข่มขืนหรือไม่ เมื่อรถไฟมา ผู้ (มีอำนาจ) ปกครองที่อยากได้สินสอดทองหมั้น ก็ต้องรีบกวดให้ทันชนิดวิ่งกันตีนขวิด
รถไฟด่วนซึ่งกำลังวิ่งมาลิ่วๆ ที่ว่าก็คือ “งานหลักและโครงการที่ต้องจัดทำตามยุทธศาสตร์การบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาแบบบูรณาการและยั่งยืน” ซึ่งจัดทำโดยคณะอนุกรรมการด้านวางแผนและกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) สรุปง่ายๆ ก็คือแผนจัดการน้ำของ กยน. นั่นแหละ (ปัจจุบันเปลี่ยนมาเป็น คณะกรรมการนโยบายน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ - กนอช.)
ในแผนนี้ระบุ 8 ยุทธศาสตร์หลัก ทั้งการฟื้นฟู อนุรักษ์ป่าและดิน ทางน้ำผ่าน (Flood Way) การปรับปรุงระบบชลประทาน แต่หนึ่งในนั้นที่สำคัญก็คือ ยุทธศาสตร์ที่ 2 การสร้างอ่างเก็บน้ำอย่างเหมาะสมและยั่งยืนในพื้นที่ลุ่มน้ำ ปิง ยม น่าน สะแกกรัง และป่าสัก สรุปภาษาชาวบ้านก็คือการสร้างเขื่อนใน 5 ลุ่มน้ำนี้ ได้แก่
ลุ่มน้ำปิง มีโครงการเขื่อนแม่แจ่ม (อยู่ในอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์) เขื่อนคลองวังเจ้า (อยู่ในอุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้าและลานสาง จังหวัดกำแพงเพชร)
ลุ่มน้ำยม มีโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น (ในอุทยานแห่งชาติแก่งเสือเต้น จังหวัดแพร่ , ล่าสุดมีรายงานว่าปรับเป็นเขื่อนเล็ก 2 ตัว ล่าง-บน เปลี่ยนชื่อ แต่ยังไม่ชัดเจนว่ายังคงอยู่ในอุทยานแห่งชาติหรือไม่)
ลุ่มน้ำน่าน มีโครงการเขื่อนน้ำปาด (ยังไม่ชัดเจนว่าอยู่ในป่าอนุรักษ์หรือไม่) เขื่อนคลองชมพู (ในอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง จังหวัดพิษณุโลก)
ลุ่มน้ำสะแกกรัง มีโครงการเขื่อนแม่วงก์ (ในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์)
ลุ่มน้ำป่าสัก มีโครงการเขื่อนป่าสักตอนบน (มีเขื่อนย่อยๆ 13 เขื่อน บางส่วนอาจอยู่ในอุทยานแห่งชาติน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์)
ผู้เขียนยังนึกไม่ออกว่าการสร้างอ่างเก็บน้ำอย่างเหมาะสมและยั่งยืน จะเหมาะสมและยั่งยืนอย่างแท้จริงได้อย่างไร ในเมื่อแต่ละเขื่อนทำให้สูญเสียพื้นที่ดูดซับและกักเก็บน้ำที่ชัดเจนว่าเป็นของยั่งยืนแท้ๆ
งบประมาณของทั้งแผน 300,000 ล้านบาท เป็นงบประมาณสำหรับการสร้างเขื่อนใน 5 ลุ่มน้ำนี้ 50,000 ล้านบาท สินสอดขนาดนี้ ทำให้ผู้ (มีอำนาจ) ปกครองต้องรีบประแป้งแต่งตัว หอบข้าวของพะรุงพะรังวิ่งตีนขวิดชนิดนุ่งผ้ายังไม่เสร็จก็ต้องรีบออกมากวดให้ทันไปก่อน
ผ้านุ่งกระรุ่งกระริ่งที่เห็นได้ชัดก็คือ ขณะการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ตามมาตรา 67 ในกฎหมายรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเป็นโครงการที่อาจมีผลกระทบรุนแรง ยังไม่เสร็จสิ้น คณะรัฐมนตรีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ชิงอนุมัติให้ดำเนินโครงการเสียแล้ว สุดท้ายกรมชลประทานต้องออกมาแก้เกี้ยวเองว่า ไม่ใช่การอนุมัติให้ก่อสร้าง แต่เป็นการอนุมัติให้ศึกษาและเตรียมความพร้อมในสิ่งที่ทำได้ ซึ่งที่จริงการทำ EHIA ก็เริ่มต้นมาตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีที่แล้ว (2554) โดยจะเสร็จสิ้นเดือนกรกฎาคมปีนี้ (2555) ก็ไม่เห็นต้องพึ่งมติ ครม. เพื่อให้เกิดการดำเนินการเสียหน่อย
เช่นเดียวกับเวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อปรับปรุงร่างรายงาน EHIA เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2555 ก็เป็นอีกความพยายามหนึ่งในการประแป้งแต่งตัว ซึ่งการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งนี้ก็เพื่อให้ประชาชนเสนอความเห็นต่อหัวข้อต่างๆ ที่ได้ศึกษาไว้ ว่ามีความสมบูรณ์หรือไม่อย่างไร แต่ปรากฏว่ากลับไม่มีตัวรายงานที่จะต้องส่งให้ประชาชนอ่านก่อนมาให้ความคิดเห็น เมื่อประชาชนเข้ามาลงทะเบียน เอกสารที่ชาวบ้านได้รับแจกคือแผ่นพับประชาสัมพันธ์โครงการ ใบกล่าวรายงานของข้าราชการหลายคนที่เกี่ยวข้องกับการเปิดงาน นี่คือเอกสารที่ให้อ่าน เพื่อแสดงความเห็นว่า EHIA ต้องปรับปรุงอย่างไร เหมือนให้คนตาบอดอ่านหนังสือให้ฟัง ขณะที่องค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมรายเดียวที่ได้รับเชิญคือมูลนิธิสืบนาคะเสถียร แม้ว่าจะได้รับร่างรายงานแต่เนื้อหาด้านในกลับระบุเพียงวิธีการและกระบวนการศึกษา โดยไม่มีผลการศึกษาว่าพบอะไร อย่างไรบ้าง
ส่วนในด้านเนื้อหาคงมีหลายประเด็นที่อาจจะยังต้องถกเถียงกันว่าจริงหรือไม่ โดยเฉพาะที่ว่าเขื่อนแม่วงก์สามารถแก้แล้งป้องกันน้ำท่วมได้จริงหรือเปล่า ทางเลือกอื่นทำไม่ได้จริงหรือ การใช้งบประมาณที่เป็นภาษีของคนทั้งประเทศสมเหตุสมผลหรือไม่
นี่ยังไม่รวมว่าบริษัทที่ปรึกษาได้ออกมายอมรับเองว่าการศึกษาผลกระทบต่อสัตว์ป่าทำได้ไม่ดีนัก เนื่องจากมีงบประมาณการศึกษาและเวลาจำกัด เพิ่งจะขอเข้าพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์เพื่อทำการศึกษาได้เมื่อ 6 เดือนที่แล้ว นักวิชาการที่ศึกษาบอกว่ามีการวางแผนการเข้าพื้นที่ 2 ครั้ง เพื่อศึกษาสัตว์ 2 ประเภทคือ นกอพยพและสัตว์สะเทินบกสะเทินน้ำ (ผู้เขียนสงสัยมากว่าทำไมถึงเลือกศึกษานกอพยพ แม้มันจะเป็นส่วนหนึ่งของความหลากหลายทางชีวภาพ แต่มันก็มาชั่วคราวเท่านั้น) ส่วนสัตว์อื่นๆ โดยเฉพาะสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ผู้ศึกษาบอกว่าเมื่อเข้าไปศึกษาใน 2 ครั้งนี้ก็จะศึกษาไปพร้อมกันด้วย (เรื่องนี้ผู้เขียนคิดว่ามีปัญหาเรื่องของการให้ความสำคัญ) พร้อมทั้งบอกว่านอกจาก 2 ครั้งนี้ก็ใช้วิธีสัมภาษณ์ชาวบ้านว่าพบสัตว์อะไรบ้าง โดยอ้างว่าเป็นการเปิดกว้าง ผู้ศึกษาไม่ต้องพบด้วยตัวเองก็ได้คือ มีคนบอกว่าพบสัตว์ชนิดใดก็จะยอมรับว่ามีอยู่จริง (เรื่องนี้ก็สร้างความสงสัยอีกเหมือนกัน)
นี่คือสภาพที่บอกว่าวิ่งจนตีนขวิด เพราะถ้าเกาะขบวนนี้ไม่ทัน คงยากที่จะหวังขบวนหน้า ที่น่าเห็นใจมากกว่านั้นก็คือชาวบ้านตาดำๆ ที่คิดว่าจะหายแล้ง หายท่วม ต้องกลายมาเป็นบันไดให้เขาเหยียบเพื่อเหวี่ยงลูกสาวให้เข้าทันขบวน